up level monkey!

Just another jirajira.com site

Posts Tagged ‘asperger

จิระจิระ จะจบป.1 แล้วน๊าาาาา

เกือบจะน็อครอบปีพอดีจากบล็อกเก่า จะเริ่มจากอะไรดี….มีเรื่องเยอะแยะมากมายเริ่มไม่ถูก -__-”
หลักๆ ที่ผ่านมาในช่วง 1 ปีก็คงเป็นเรื่องการปรับตัวเพราะการย้ายรร. เปลี่ยนสังคมใหม่ที่ใหญ่ขึ้น กว้างขึ้นไม่ใช่การปรับตัวเฉพาะจิระคนเดียวแต่เป็นการปรับกันใหม่ทั้งครอบครั้วเลยนะเออ แค่จะบันทึกว่าต้องทำอะไรบ้างในชีวิตปจว.ก็ยาก ว่าจะเล่าจะเริ่มก็ยาก จะไล่เรียงก็ยากแล้วตรูจะเริ่มเขียนยังไงดี ก็เอาเป็นว่านึกอะไรออกก็เขียนละกันเผื่อโตขึ้นจะได้ย้อนมาอ่านพัฒนาการกันได้บ้าง

เริ่มจากเทอมแรกของป.1 ที่แค่ก้าวเข้าไปลองเรียนวันแรก ก็โดนอาจารย์เรียกคุยเลยจ้า… “น้องไม่นิ่งนะคะ อาจจะต้องปรึกษาหมอ ทานยา… “บลาๆๆ ซึ่งฟังครั้งแรกก็อึ้ง เหวอไปเลย แบบว่า เฮ่ยยยย หาหมออยู่ค่ะ แต่…มันต้องถึงขนาดกินยาเลยเหรอคะ? สารภาพว่าแอบนอยด์มากๆ แต่พอเวลาผ่านไป ได้รับรู้ถึงความใส่ใจที่อาจารย์มีให้ การสังเกตเด็กอย่างเทพ (ที่สแกนแล้วรู้เลยว่าเพี้ยนได้ตั้งแต่วันแรกเทพป่ะล่าาาา) การประสานงานระหว่างผู้ปกครอง คุณหมอ และอาจารย์ การอัพเดทเรื่องราวของเด็กๆ จากที่โรงเรียนผ่าน social media ได้เห็นลูกลิงในโมเม้นท์ต่างๆ ทำให้การรับมือกับลูกมีทิศทางที่สอดคล้องและมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมากจนไม่รู้จะเอ่ยคำขอบคุณอาจารย์ยังไง มันตื้นตันอ่ะ

เข้ามาอยู่โรงเรียนนี้ตอนแรกก็กังวลมาก ตอนเปิดเทอมก็ออกตัวไว้ในกรุ๊ปผปค.ในห้องเลยว่าจิระเป็นแบบนี้นะ กลัวคนอื่นจะไม่เข้าใจและรับไม่ได้ กลัวผปค.ท่านอื่นๆ รังเกียจแล้วจะไม่ให้ลูกเล่นด้วย (ดราม่าละครไทย) แต่ไปๆ มาๆ ก็พบว่าเด็กๆ ที่นี่ก็เพี้ยนทั้งนั้น 555 อาจารย์เองยังบอกเลย เด็กที่สอบเข้าได้ก็ไม่ปกติแล้วล่ะค่าาา ก็ขึ้นอยู่ว่าจะเพี้ยนเลเวลไหน มีติ่งอะไรที่ทำให้แตกต่างกัน เลยกลายเป็นว่าแม่ๆ คุยกันเข้าใจกันช่วยเหลือกันได้ดีไปซะงั้น

พอเรื่องสังคมคลายกังวลได้ไม่เท่าไหร่ ภาวะสมาธิสั้นก็มาเยือน…โชคดีที่มีโอกาสได้พูดคุยกับอาจารย์บ่อยๆ อาจารย์ก็บอกว่าไม่ต้องเครียดค่ะคุณแม่ อาการนี้เราพบได้กับเด็กทั่วไปจะสังเกตได้ชัดช่วงอายุประมาณ 7 ขวบ ซึ่งอาการสมาธิสั้นถึงจะถูกจัดเป็นอาการบกพร่องแต่ก็ไม่ใช่ว่าลูกเราป่วย หรือน่ารังเกียจ คนส่วนใหญ่กลัวคำนี้ และมักจะไม่ยอมรับว่าลูกเป็นจนสายเกินไป เพียงแค่ว่าถ้าเรารู้ว่าเด็กมีภาวะสมาธิสั้น และได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกต้องมันก็เหมือนต้นไม้ที่มีไม้ค้ำยันประคองกิ่งที่แตกผิดที่ให้เติบโตขึ้นไปอย่างสง่างาม ซึ่งภาวะสมาธิสั้นก็มาจากหลายสาเหตุ อย่างของจิระอาจารย์ก็ส่งไปทำเทสว่าน่าจะมาจากอะไร สั้นแท้หรือสั้นเทียม ซึ่งพอผลออกมาก็ตามคาดว่าเป็นอาการเหล้าพ่วงเบียร์ของไอคิวประมาณนี้ เด็กที่ช้ากว่าเกณฑ์ กับเด็กฉลาดกว่าเกณฑ์ มีภาวะสมาธิสั้นคล้ายกัน แต่สาเหตุและการแก้ไขก็ต่างกัน การช่วยเหลือเด็กถามว่าจำเป็นมั้ย? ก็ต้องมาดูในรายละเอียดย่อยๆ ลงไปอีกว่าเด็กที่ถูกเรียกว่าเด็กที่มีภาวะสมาธิสั้น แค่อยู่ไม่นิ่ง เหม่อลอย ไม่ใส่ใจกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ หรือสั้นเพราะเป็นเด็กพิเศษมีภาวะ LD ในด้านต่างๆ พ่วงด้วยมั้ย (LD = Learning Disabilities ความบกพร่องในการเรียนรู้) ถ้าช่วยได้ถูกจุดก็จะดึงศักยภาพของเด็กออกมาได้อย่างเต็มที่ แต่ถ้าผู้ใหญ่ไม่เข้าใจว่าเด็กแบบนี้เค้าเก่งอะไร อ่อนอะไร ต้องส่งเสริมหรือแก้ไขอะไร หรือแม้แต่เค้าคิดอะไรอยู่ ถ้ารับมือผิดๆ มองข้ามไปก็จะทำให้การใช้ความสามารถเฉพาะตัวไปในทางที่ผิดและผิดทาง ซึ่งก็น่าเสียดาย

ทีนี้เมื่อรู้ว่าลูกมี “ภาวะ” อย่างนี้จะรับมือยังไง เด็กทุกคนมีความแตกต่าง อาการที่พบไม่ใช่เด็กป่วย แต่เป็นลักษณะเฉพาะบุคคลของเค้า เราว่าในสมัยก่อนเพื่อนแสบๆ ที่ถูกหมายหัวก็คงประมาณนี้ เพียงแค่สมัยก่อนยังไม่เคยมีงานวิจัยมากพอที่จะแยกได้ว่า เด็กซนแบบไหนมาจากสาเหตุใดหรือมีผลยังไง แต่ในเมื่อในปัจจุบันพ่อแม่รู้เยอะ รู้มาก มีข้อมูล หมอ งานวิจัยมากมายที่จะช่วยได้ว่าเราจะสนับสนุนส่งเสริมหรือระงับสิ่งไหนที่เป็นคุณลักษณะที่พึงประสงค์หรือไม่พึงประสงค์ของเด็ก อันนี้ก็แล้วแต่บ้านว่าจะเชื่อในทางใด เพราะบางบ้านก็รับไม่ได้ว่าลูกมี “ภาวะ” ไม่นิ่งที่แตกต่างจาก common และ moral โดยรวม…เบื้องต้นเลย ต้องแยกสิ่งที่ต้องปลูกฝัง สอน และบำบัดออกจากกัน พอมาอัพบล็อคแบบมีสาระแล้วดูเหมือนตัวเองจะเชี่ยวชาญ แต่เปล่าเลย แค่ต้องคอยเรียนรู้ที่จะลองผิดลองถูกเองว่าจะต้องดิลกับจิระยังไง เพราะแค่การกระทำหรือคำพูดที่ต่างกันก็มีผลกับพฤติกรรมได้ แต่จะให้บอกว่า อะไรคือใช่ อะไรคือไม่ใช่ เด็กแต่ละคนก็มี “ภาวะ” ที่ไม่เหมือนกัน อาจจะคล้ายแต่ยังไงก็ไม่เหมือน…ก็บอกแล้วว่ามันยากกกก

อาการที่เข้าข่ายแอสเพอร์เกอร์ : ภาวะที่มีผลต่อตัวเอง
พอเรียนเทอม 2 นอกจากคุณหมอที่หาอยู่เป็นประจำแล้วก็มีโอกาสได้พบหมอจิตวิทยาเด็กที่ทางโรงเรียนทำนัดให้ ก็ด้วยความหวังว่า…นี่ก็ดีขึ้นตั้งเยอะ มีเพื่อนเยอะแล้วนะ ที่หมอเคยบอกว่าน่าจะเป็นแอสเพอร์เกอร์ก็อาจจะไม่ใช่ อาจจะไม่เป็นมั้ง แต่พอคุณหมอได้พูดคุยกับจิระ ประมวลผลจากเทส สอบถามจากอาจารย์ และเพื่อนๆ แล้วคำตอบก็ยังคงเดิม “จิระยังเข้าข่ายแอสเพอร์เกอร์ แต่จะระดับไหนยังไม่สามารถระบุได้ตอนนี้ จะต้อง follow ต่อไปอีก”…การย้ายโรงเรียนมาสังคมที่กว้างขึ้น ทำให้โลกของจิระกว้างขึ้น ด้วยแนวการสอน ซัพพอร์ทของที่บ้าน ที่จะต้องเน้นเรื่องการเข้าสังคม ย้ำให้เล่นกับเพื่อนนะลูก สอนให้ใส่ใจรายละเอียดของคนอื่น ก็ยังคงมาแนวนี้และดูท่าว่าจะต้องทำการบ้านกันหนักขึ้นกว่าเดิม…ป.1 เหมือนจิระจะมีเพื่อนมากขึ้น พูดถึงเพื่อนที่โรงเรียนมากขึ้น มีความสนใจร่วม “ดูเหมือนจะ” มีกลุ่ม มีเพื่อนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กัน ชอบรามเกียรติ์ ชอบหมากรุกเหมือนกัน มีการชื่นชมคนที่เจ๋งว่าสุดยอด แต่คุณหมอบอกว่าน้องยังมีความเป็นหุ่นยนต์อยู่เยอะ เป็นเหมือน os เป็น harddisk ที่ต้องป้อนข้อมูลให้เยอะที่สุด สอนเค้าให้เยอะที่สุดในช่วงนี้ เพราะจิระเองบกพร่องเรื่องการประมวลผล (SID > Link) ซึ่งน่าจะเห็นได้ชัดว่าแตกต่างกับเด็กในวัยเดียวกันที่ไม่มีปัญหาในช่วงประมาณป.3 ที่เด็กจะเริ่มจับกลุ่ม และจะเริ่มรู้สึกว่าเพื่อนคนนี้ “แปลก” ทางบ้านก็ต้องช่วยสอน ใส่ข้อมูลการเรียนรู้ตรงนี้เพื่อปรับความคิดหรือตรรกะจิระสไตล์ที่ทื่อๆ ทุกอย่างจะ base on fact เป็นประโยคเดี่ยวให้มากขึ้น ภาวะบกพร่องเรื่องการประมวลผลและการนำไปใช้จะยกตัวอย่างก็ประมาณเช่นถ้าเคยสอนว่า “นั่งทานข้าวด้วยกันควรตักปลาให้คุณยายนะคะ” โอเคเค้าตักปลาให้ แต่พอพรุ่งนี้กับข้าวไม่มีปลา เค้าจะคิดเองไม่ได้ว่า ควรตักผัดผักให้ เป็นเหมือน siri ที่ถามอะไรถ้าไม่มีในระบบก็ error (คุณหมอเกร๋เนอะเปรียบเทียบชัดเชียว)

ส่วนคำว่าเพื่อนของจิระที่คุณหมอได้คุยยังเป็นแค่เลเวลคนรู้จัก เค้ายังไม่รู้ว่า เพื่อนกัน ต้องปฏิบัติตัวยังไง เพื่อนกันเลิกเรียนเค้าก็รอกันบ้างนะ ห่วงเพื่อนบ้างนะ คิดถึงเพื่อนบ้างนะ ติดเพื่อนบ้างนะ นอกจากช่วงเวลาที่แชร์กันเรื่องที่สนใจร่วมกันแล้วตรงนี้จิระยังไม่มี เพื่อนในห้องที่แม่ดีใจนักหนาว่าจิระจำเพื่อนได้ตั้งแต่เลขที่ 1-39 ก็กลายเป็นว่า detect กับตัวเลขเช่นเดิม จำเลขที่ จำชื่อเพื่อน นามสกุลได้หมด แต่ถ้าคนไหนที่ไม่ได้มีความสนใจร่วมเรื่องเดียวกัน แม้จะเรียนห้องเดียวกันมาเกือบปีแล้วก็ยังจำหน้าเพื่อนไม่ได้ค่ะ -_- ซึ่งจุดนี้ก็เป็นหน้าที่ของครอบครัวที่จะต้องสร้างลูกให้เป็น “คน” กันต่อไป ถ้าจะเถียงในใจว่า อ้าว…แล้วความแนวๆ เกร๋ๆ อินดี้ๆ แบบนี้มันก็ไม่ได้เดือดร้อนใครนิทำไมจะต้องให้เด็กทุกคนเป็นเหมือนกัน ให้เค้าเป็นตัวของตัวเองไม่ดีกว่าเหรอ ณ จุดนี้ก็ถามหมอไปเหมือนกัน แต่คุณหมอก็อธิบายให้ฟังว่าภาวะ “เข้าข่ายแอสเพอร์เกอร์” ที่ไม่สนใจคนรอบข้างไม่แคร์สังคม มีความ self แบบไม่แคร์สายตาใคร อย่างเช่นเค้าใส่เสื้อศิลปะกันแต่จิระจะใส่กางเกงด้วยอ่ะ ใครจะทำไม ถามว่าอายมั้ย? ไม่ การทำอะไรที่ดูแปลกแยกเรียกร้องความสนใจ แต่เอาเข้าจริงกลายเป็นไม่ใช่เรียกร้องความสนใจ แต่คำตอบง่ายๆ ก็คือแค่ “อยากทำอ่ะ” “ก็ชอบอ่ะ” ซึ่งจุดนี้ถามว่ามีปัญหามั้ย คุณหมอก็บอกว่าในช่วงเล็กคงไม่มี ก็น่าเอ็นดูดีนะ ดูเป็นเด็กแนวดูเป็นตัวของตัวเอง (อย่างที่ใครๆ มักจะเข้าข้างตัวเองให้สบายใจ) แต่มันเกิดจากความแนวที่ไม่ใช่ identity ของเด็ก เพราะสิ่งที่เค้าเป็นอยู่ตอนนี้มันคือความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ยังมีความคิดของตัวเองเป็นศูนย์กลาง ถึงเพื่อนจะชอบ ขำ แต่ถ้าไม่สอนเค้าให้รู้ว่าสังคมปกติเค้าไม่ทำงี้กันนะเด็กที่เป็นแบบนี้ก็จะถูกเพื่อนๆ เลือกที่จะ “ไม่เอา” เป็นเด็กหลังห้องเมื่อโตขึ้น จะถูกแยกออกด้วยบริบทของสังคมโดยรวม แล้วถามว่า จำเป็นมั้ยที่จะต้องแคร์คนรอบข้างขนาดนั้น? อาจจะไม่จำเป็นสำหรับบางบ้านแต่สำหรับบ้านเราก็ยังเห็นว่าความสัมพันธ์เกื้อหนุนเอื้ออาทรเป็นลักษณะเด่นของความเป็นมนุษย์ก็คงจะไม่ปล่อยให้จุดนี้กลายเป็นเรื่องที่ไม่ใส่ใจ แล้วเค้าจะเสียใจมั้ย? ถ้าถามความรู้สึกของแม่ที่เจอว่าลูกถูกเพื่อน “ไม่เอา” เราเองคงรู้สึกเสียใจ รู้สึกแย่ถ้าเป็นอย่างนั้น แต่กลับกันในความรู้สึกเด็กแบบจิระก็อาจจะไม่สนใจอะไรเลยก็ได้ แล้วไงเหรอ? เค้าไม่เลือก ไม่เล่นด้วยแล้วไงเหรอ? เพราะเค้าก็ยังคงสนใจแต่ตัวเอง สนใจสิ่งที่ตัวเองเลือกที่จะสน โดยที่ไม่ได้แคร์ว่า สังคมคิดยังไง คนอื่นคิดยังไง มันก็จะเป็นการผลักเค้าเข้าสู่การอยู่คนเดียวมากขึ้นๆ ….ก้าวแรกของการเข้าสังคม การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีก็คือการรู้จักที่จะรักและถูกรัก รู้จักแคร์คนอื่นและรู้สึกขอบคุณที่คนอื่นแคร์เรา ลูกจะเป็นที่รักของเพื่อนๆ และคนรอบข้างได้ยังไงถ้าเค้าไม่รู้ว่าการรักคนอื่นเป็นอย่างไร การที่เค้าจะเป็นที่รักของเพื่อนๆ ได้ก็ต้องรู้ว่าคนอื่นคิดอะไร รู้จักสังเกตความรู้สึกคนอื่นด้วย แต่มองอีกแง่การที่จิระไม่ sensitive กับเรื่องความสัมพันธ์มากนักอาจจะดีสำหรับสังคมปัจจุบันก็ได้ ดราม่ากันซะเหลือเกิ๊นนนน

สมาธิสั้น : ภาวะที่มีผลต่อการเรียนรู้
การที่ได้รู้ว่าสมาธิสั้นแบบเหล้าพ่วงเบียร์ของจิระ มีหลักการรับมือก็คือการต่อยอดความสนใจให้กว้างขึ้นจากสิ่งที่เค้าสนใจหลัก อันนี้ฟังดูง่าย แต่ก็ไม่ง่าย เพราะการที่จะต้องมานั่งสังเกตว่าลูกชอบอะไร องค์อะไร แล้วคอยบิ้วในสิ่งที่เค้าไม่ได้ชอบให้ไปในทิศทางเดียวกับสิ่งที่เค้าชอบ แค่คิดจะทำก็ยากละ….อาการที่เคยพบที่โรงเรียนก็คล้ายๆ กับตอนอนุบาล ก็คือ ถ้าชอบอะไรวิชาไหนก็จะอินนนนมากกกกก แต่ถ้าวิชาไหนไม่ชอบก็ไม่สนใจเลยเดินออกจากห้องไปเลยก็มี เอากะเค้าสิ จุดนี้คุณหมอและอาจารย์ก็แนะนำให้ลองเข้ากิจกรรมบำบัดซึ่งก็ลองดูว่าเด็กไปในแนวไหน อย่างเด็กบางคนก็จะวาดรูป แต่จิระไม่เอาเลยวาดรูปไม่เป็น ย่อยสิ่งที่มองเห็นไม่ได้ แม่ก็ต้องช่วยไกด์ (อันนี้เดี๋ยวค่อยขยายความอีกที) จิระจะมาในแนวตรรกะการคำนวน อาจารย์ก็เลยแนะให้ไปลองเล่นหมากรุกหลังเลิกเรียน…เท่านั้นแหละ เข้าทาง หายใจเข้า-หายใจออกเป็นหมากรุกอยู่ช่วงนึง แทบจะทุกประโยคจะพ่วงคำศัพท์หมากรุกมาด้วย เช่น แม่จะโดนฟรอสละนะ ปาป๊าเดี๋ยวเหอะจิระจะเชคเมทเลย! จริงๆ แล้วที่ไปเล่นหมากรุกนี่อิแม่เห็นหมกมุ่นกับหมากรุกมากๆ ก็ไม่ค่อยเกทว่ามันจะช่วยยังไง ก็แค่เปลี่ยนสิ่งที่อินไปอินหมากรุกแค่นั้นเอง แต่พอลองปล่อยให้ไปได้ซักพักก็(คิดเอาเองว่า)จิระมีสมาธิในการเรียน(บางวิชา)ดีขึ้น มีการรอคอย เปิดใจให้เพื่อนมากขึ้น เริ่มยอมรับผลการแข่งแพ้-ชนะ หัดสังเกตคนที่เล่นด้วย ประเมินสถานการณ์ได้บ้าง แต่การเล่นแบบมีกติกาก็ยังง้องแง้งทริกกี้อยู่บ้าง ก็ลองดูว่าจะไปในทิศทางไหน ส่วนความเก่งกาจสามารถในการเรียนป.1 นั้น อย่าได้ถามว่าเป็นยังไง ฮ่าๆ จิระจะเก่งในสิ่งที่ไม่ได้สอบเท่านั้นแหละจ้า

สมาธิสั้นและการเล่นเกม : ภาวะติดเกม
หัวข้อนี้อยากโน้ตไว้เน้นๆ ตัวใหญ่ๆ เลย เพราะเจอมาเองกับตัว….แอบพลาดว่าตอนที่จิระจะสอบเข้าป.1 ก็เอาเรื่องเวลาว่างเยอะและมีเวลาเล่นเกมมาเป็นหนึ่งในหัวข้อที่บิ้วสอบ และในเมื่อบิ้วแล้วก็ต้องทำตามคำพูด บอกว่าจะให้เล่นก็ต้องให้เล่นตามสัญญา แต่ผลที่ได้กลับมาสิ มันแย่….เทอมแรกลูกอินกับการเล่นเกมอย่างหนัก เข้าข่ายเด็กติดเกม ไม่ว่าเกมนั้นจะดูเป็นเกมที่มีประโยชน์ เป็นเกมที่สกรีนมาแล้วทั้งแม่และหมอว่าโอเคไปจนถึงเกมเบสิกอย่างหมากรุก (ที่พออยู่นอกกระดานจริง แปรสภาพมาอยู่ใน gadget ลูกอิฉันก็สามารถติ่งได้อย่างสุดโต่งเช่นกัน)…ถึงแม้ว่าจะจำกัดเวลาเล่นให้เล่นแต่หลังเลิกเรียน ให้เล่นในรถตอนรถติด ให้เล่นหลังจากทำหน้าที่ของตัวเองเสร็จ ไม่ว่าจะมีข้อแม้ใดๆ ก็ตาม แต่ภาวะติดเกมมันไม่ใช่การเล่นเกมในขณะที่มี gadget อยู่ในมือเท่านั้น…เด็กที่ติดเกม ในใจเค้าจะพะวงถึงว่าด่านต่อไปจะวางแผนยังไง อีกกี่ชั่วโมง กี่นาทีจะได้เล่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเค้าจะทำตามข้อตกลงได้ แต่สิ่งที่เค้าทำก็จะไม่ได้เต็ม 100 ไม่ได้ดีเท่าที่เค้าควรจะทำได้ โดยเฉพาะสมาธิการเรียน เค้าจะตั้งใจ นิ่ง สงบ ฟังได้ยังไงในเมื่อใจมันคอยจะนับเวลาที่จะได้เล่นเกมรอบถัดไป! ปัญหาเรื่องติดเกมนี่เป็นปัญหาใหญ่ของเด็กในปัจจุบันเลย แต่ถ้าจะให้เลิกก็ไม่ใช่ห้ามแค่ลูกจะสำเร็จ แต่ควรจะห้ามพ่อด้วย เพราะ 80% พ่อๆ เล่นเกมและยอม”หยวน” ช่วงแรกที่คิดว่าไม่ได้แล้วต้องงดล่ะนะ ก็เริ่มลดเวลาลงมาเรื่อยๆ แล้วสุดท้ายหักดิบ เลิกเล่น อยู่กับลูกห้ามเล่นเกมใน gadget ไม่ว่าใคร แล้วก็บอกตรงๆ ด้วยเหตุผลเลยว่าเพราะจิระยังคุมตัวเองไม่ได้นะ มัวแต่คิดถึงแต่เกมจนทำหน้าที่ตัวเองไม่เรียบร้อย เลยต้องพยายามเลิกก่อนนะ เราต้องมาพยายามด้วยกันนะ แรกๆ ก็ลงแดงร้องไห้ดิ้นพราดๆ แต่ไม่นานก็ทำได้และก็เลิกเกมใน gadget ไปเลย เกมหลายเกมเป็นสื่อการเรียนรู้ที่ดีแม่ก็อยากให้เล่นแต่คงต้องดูว่าเด็กพร้อมแค่ไหนเมื่อไหร่อีกที ส่วนที่บ้านตอนนี้ก็คงเหลือแต่ board game เกมเศรษฐี หมากรุก เกมที่จะต้องเล่นกับคนอื่น และมีจุดจบของเกมไม่ใช่ up level ไปเรื่อยๆ ให้ได้เวิ่น….ห่างหายเลิกเกมไปได้หลายเดือน อิพ่อก็มาขอว่าให้ลูกเล่นมั่งมั้ยเค้าจะได้ไม่ต้องตาละห้อยมองตามเพื่อน ก็โอเคลองดู มาให้เล่นแค่วันเสาร์ครึ่งชั่วโมง แต่แค่กลับมาให้เล่น 2 ครั้ง เชื่อมั้ยว่าอาการงี่เง่ากลับมาเลยทันตา! พร่ำเพ้อจะลงแดง กิจกรรมหรือหน้าที่ที่เคยปรับจนรับผิดชอบได้เองแล้วก็เริ่มเป๋ มันแตกต่างกับช่วงไม่มีเกมเลยอ่ะ สรุปก็หักดิบอีกครั้ง ทีนี้ลบมันให้หมดไปเลย อดทน….ถ้ารักลูกอย่าให้ลูกติดเกม ถ้ารักลูกอย่าเลี้ยงลูกด้วยเกม ต้องใช้คตินี้เลย เพราะเวลาที่เราห้ามลูกเราแต่เห็นคนอื่นโยน ipad ให้ลูกเล่น ให้มันเงียบๆ สงบๆ แล้วมันจี๊ดอ่ะ เด็กแต่ละคนวุฒิภาวะต่างกัน เด็กแต่ละคนแบ่งเวลาได้ต่างกัน พ่อแม่ควรสนใจในกิจกรรมและพัฒนาการทางทักษะของเค้ามากกว่าการชื่นชมว่าลูกเล่นเกมเก่งเล่น ipad เก่ง รักสบายโดยการยื่น gadget ให้เพื่อให้พ่อแม่ไม่ปวดหัว…เกมเป็นสิ่งเร้าที่แรงกว่าการห้ามดูทีวีหลายเท่านัก บางคนก็อาจจะเถียงว่าลูกชั้นเล่นเกมยังเรียนได้เกรด 4 หมดเลยนะ ลูกชั้นแบ่งเวลาได้ ยินดีด้วยว่าคุณโชคดีแต่ลูกของคุณๆ”อาจจะ”ทำได้ดีกว่านี้ถ้าไม่ติดเกม จะพูดไปคงไม่เชื่อแต่สำหรับเรามันมีผลจริงๆ นะ // ปล. ที่เขียนถึงในบล็อคนี้หมายถึงการเล่นเกมแบบหมกมุ่นจนมีภาวะติดเกมนะคะ เด็กบางคนสามารถแยกแยะได้เล่นชิวๆ พอแล้วก็พอเอาผ่อนคลายไม่ได้ติดก็ไม่ได้พาดพุงถึงใคร ลูกใครก็สังเกตกันเอาเองเด้อค่าาา

สมาธิสั้นและขนมหวาน
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าขนมหวานมีผลมากๆ กับเด็กบางคน มีช่วงนึงที่อาจารย์ทักว่าช่วงเช้าคุณแม่ให้อะไรหวานๆ ทานหรือเปล่าคะ เพราะจิระ alert มาก อยู่ไม่นิ่งเลย ยุกยิก วิ่งพลาน ไม่มีสมาธิ พอถามช่วงเวลาก็ใช่เลยว่าช่วงนั้นจิระกินโอวัลตินตอนเช้า -__-” แล้วพองดก็ดีขึ้น พอลองเทสให้กินช้อกโกแลตหรือลูกอมในช่วงวันหยุด อาการก็เป็นอย่างนั้นเลย ช่างแตกต่างกับวันที่ไม่มีขนมหวาน อย่างตอนไป outing กับที่ออฟฟิสแม่ก็ยิ่งชัด กินโอวัลติน กินนมข้นหวาน กินไอติม กินขนม ฮีวิ่งพลาน ไม่หยุดพูดเลย ตั้งแต่ 7 โมงเช้ายัน 5 ทุ่ม! การโดนคุมเรื่องขนมหวานช่างดูน่าสงสารกับเด็กประเภทนี้แต่ก็ต้องอดทนล่ะน๊าาา //ใครที่ยื่นขนมให้เด็กแล้วพ่อแม่เค้าปฏิเสธก็ช่วยเห็นใจหน่อยนะคะไม่ใช่ว่าเค้าใจยักษ์ (เหมือนที่อิฉันโดนค่อนขอดบ่อยๆ) แต่ว่าลูกเค้าอาจจะมีปัญหานะคะ //เด็กทุกคนชอบรสหวานแต่ไม่ใช่ทุกคนควรจะกินขนมหวาน ทุกสิ่งอย่างมีความเหมาะสมของมัน

การส่งเสริมการเรียนรู้ และกิจกรรมนอกเวลา
ที่ผ่านมาไม่ได้ให้เรียนพิเศษอะไรเลย ตอนเทอม 1 อยากให้เล่นกีฬาเคยสมัครเรียนเตะบอลให้ก็พรอพดีเด่นไปได้แค่ 2 ครั้ง ไม่รอด…ไปนั่งขุดหาไส้เดือนอยู่ข้างสนามนู่น -_-” อาจารย์บอกว่าน้องยังไม่พร้อมที่จะฟังคำสั่งกลุ่มเอาไว้ก่อนก็ได้ก็เลยโอเคจบ ไถสกู๊ตเตอร์เล่นอะไรไปตามมีตามเกิดเหมือนเดิมละกัน….ส่วนวิชาการ เคยคิดว่าจะไม่ให้เรียนอะไรเลยเพราะไม่ค่อยชอบลัทธิติวลูกให้จีเนียส ทำไมต้องเก่งกว่า ดีกว่าคนอื่นเหรอ? เรียนไปพร้อมๆ กับเพื่อน เก่งไปเท่าๆ กับเพื่อน เรียนรู้ไปด้วยกันกับที่ครูสอนในห้องได้มั้ย เอาเวลาไปเล่นให้สมกับวัยเด็กจะดีกว่ามั้ย? แต่พอเข้ารั้วสาธิตปุ๊บปีนี้มีเรียนอังกฤษ ก็เอาล่ะทำไงดีวะ อยู่อนุบาลก็เรียนแค่ ABC อื่นๆ ที่บ้านก็ยังไม่เคยสอนอะไรเลย ถึงจะไม่อยากให้เรียนแต่ก็ว่าจะไปลงเรียนพิเศษซะคอร์สนึงให้เป็นพื้นฐานดีมั้ย เพราะเด็กป.1 มาจากหลากหลายที่ ถ้ามาแบบเอ๋อๆ เลยนับได้แค่ A-Z แบบจิระอาจจะท้อ จะเรียนทันมั้ยเนื่องจากยังไม่ค่อยรู้ว่าแนวการเรียนการสอนของโรงเรียนไปในทิศทางไหน แต่พอไปทดลองเรียนวันแรก จนท.ก็มาเชิญออกเลยจ้า “น้องยังไม่พร้อมนะคะ น้องอยู่ไม่นิ่งเลยค่ะ คงยังไม่สามารถเรียนได้” สรุปไม่ได้เรียนไปอีกที่ จนตอนประชุมศิษย์-ลูกเลยถามอาจารย์ว่า ถ้าไม่เรียนพิเศษอะไรเลยได้มั้ยคะ เด็กจะสามารถเรียนกับเพื่อนๆ ได้-ทันมั้ยคะ ความหมายโดยนัยก็คืออยากจะถามอาจารย์ว่าจะรับได้กับเด็กที่เริ่มจากไม่รู้อะไรเลยได้มั้ยนั้นแหละ และคำตอบที่ได้รับจากทางคณาจารย์ป.1 ก็คือ ที่นี่ไม่สนับสนุนให้เด็กเรียนพิเศษนะคะ เพราะเด็กจะอีโก้ คิดว่าตัวเองรู้แล้ว และในห้องก็จะไม่ตั้งใจ ฉะนั้นแนวทางการไม่เรียนพิเศษที่คุณแม่ถามมาก็ขอตอบว่าไม่จำเป็นต้องเรียน แค่สอนและทบทวนในสิ่งที่เรียนไปและเห็นในชีวิตประจำวันก็พอ….โป๊ะเชะ เข้าทาง

ไอ้ที่ว่าจะๆ น่าจะๆ เรียนเลยเหลือแค่เรียนเปียโนที่เริ่มมาจากอยากให้กล้ามเนื้อมัดเล็กแข็งแรง ความสัมพันธ์ของการมอง คิด และประสาทสัมผัสประสานกันได้ดี แต่ที่พูดมาย่อหน้าเมื่อกี๊มันก็แค่ข้ออ้างที่ดูมีหลักการเพราะลึกๆ ที่อยากให้เรียนเพราะอย่างน้อยถ้าโตขึ้นก็ยังพอมีความสามารถพิเศษอะไรติดตัวไว้บ้างละเว้ ผู้ชายเล่นดนตรีได้มันเท่ออก….ทีนี้ เรียนเปียโนแล้วเป็นยังไง….ตอนเล็กๆ เลยก่อนที่จะเริ่มเรียนก็ดูเหมือนจิระจะชอบดนตรีนะ ครูที่โรงเรียนหรือครูเปียโนที่ลองทดสอบดูมักจะชมว่าน้องมีแววนะคะ ดูจะ gifted ดนตรีหรือเปล่าน่าส่งเสริมนะคะ แต่เอาเข้าจริงมัน “ไม่ใช่” สิ่งที่ทำให้ใครๆ มักจะชมตอนจิระเล็กๆ ว่าดูมีแววเพราะฮีอ่านโน้ตได้ค่อนข้างเร็ว สามารถจำโน้ต จังหวะ เครื่องหมายและแยกเสียงได้ค่อนข้างเป๊ะ คุณสมบัตินี้ถ้าจะมองอีกแง่ก็คือความสนใจด้าน”คณิตศาสตร์และตัวเลข”มากกว่า”ดนตรี” เพราะเมื่อเรียนๆ ไปก็จะพบว่าจิระไม่ได้ถนัดเลยที่จะควบคุมนิ้วให้ไหลลื่นไปตามโน้ตที่เห็นตามจังหวะที่ฟัง และพอเล่นไม่ได้ก็พาลจะเลิกเรียน เบื่อไม่อยากเรียน ไม่ยอมซ้อม ง้องแง้งๆ หลายๆ ครั้งอิป๊าก็อยากจะให้เลิกเรียนเพราะเหมือนจะไม่ได้พัฒนาและไม่ได้ช่วยอะไรเลย แต่สุดท้ายมารดาธิปไตยก็เป็นใหญ่อยู่ดี ก็อดทน ทั้งขู่ทั้งปลอบ บิ้วให้เรียนมาเรื่อย พยายามไปส่งให้เรียนได้ครบตามเวลา จาก 15 นาทีไหลๆ มา 30 นาทีไหลๆ จนสามารถอยู่ได้ครบ 1 ชม.ในคลาสเรียน และหลังจาก input แบบเป็นระบบมาได้เกือบ 2 ปีจากที่เคยไม่ยอมซ้อมเลย ก็เริ่มซ้อมทีละนิด พอโตขึ้นพัฒนาการของร่างกายพร้อม เริ่มคุมกล้ามเนื้อนิ้วได้ ก็เริ่มเล่นได้ ก็เริ่มภูมิใจ พอภูมิใจในตัวเองก็จะเริ่มซ้อมมากขึ้น มากขึ้น ทีนี้จิตใจก็จะถูกเติมเต็มและได้เห็นว่าสิ่งที่ได้มาคือความอดทน ความพยายาม และสมาธิ แต่จะให้ตอบว่าลูกมีความถนัดทางดนตรีมั้ย? บอกเลยว่าไม่ แต่ได้มาขนาดนี้อิแม่ก็ภูมิใจมากมายแล้วจ้า

บันทึกช่วงป.1

  • เทอม 1 อินกับรามเกียรติ์มากถึงมากที่สุด สามารถเขียน family tree วงศ์ยักษ์ วงศ์พระราม และวงศ์ลิง จำลักษณะเด่นตัวละคร หัวโขนต่างๆ ได้แม่นเป๊ะ เล่าฉากแต่ละฉาก ลำดับความสัมพันธ์ของเรื่องราวได้ดี
  • สนใจแผนที่ ประเทศต่างๆ เงินตรา อัตราแลกเปลี่ยน รายได้ ซึ่งก็ต่อยอดจากลูกโลกไปได้อีกเยอะ ทั้งเรื่องสังคม วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ การคำนวน
  • ให้ความร่วมมือกับงานกิจกรรมประจำปีป.1 ได้ดี มีมาซ้อมที่บ้าน ตื่นเต้นเห่อชุดการแสดง อดทนซ้อมโขนช่วงเย็นแม้ว่าวันจริงจะยุกยิกๆ จนเหมือนกับไส้ศึกลิงก็เถอะ
  • การทำงานในห้องเรียนและการบ้าน ยังขาดความปราณีต ค่อนข้างชุ่ย ใจร้อน รีบๆ ทำให้เสร็จแต่ได้ไม่ดี ยังประมาทอยู่
  • ทักษะทางด้านร่างกาย การออกกำลังกายไม่ค่อยดี ต้องพยายามออกกำลังกายวิ่งเล่นให้เยอะกว่านี้ ในส่วนนี้อาจจะเพราะที่บ้านไม่มีบริเวณ เป็นเด็กโตในรถด้วย ก็ต้องหาเวลาให้มากขึ้นทั้งพ่อแม่ลูก
  • ชื่นชมสิ่งที่เจ๋งๆ จุดเด่นของเพื่อนแต่ละคนอย่างใสๆ รู้สึกว่าจุดนี้จะเป็นจุดเด่นที่ค่อนข้างจะน่ารักมากของจิระ เพราะไม่ว่าใครจะเก่งอะไร เค้าจะชื่นชมจริงๆ โดยไม่มีน้ำเสียงหรือท่าทางอิจฉา หรือจะต้องแข่งขันกับใครเลย ตรงจุดนี้ที่ผ่านมาก็ระวังผู้ใหญ่รอบข้างที่มักจะถามว่าสอบได้ที่เท่าไหร่ ได้ที่ 1 หรือเปล่า เพื่อนได้เยอะทำไมเราไม่ได้มั่งล่ะ ไหนได้เกรดเท่าไหร่ คนนั้นเค้ายังได้ 4 หมดเลยนะ… อะไรอย่างนี้ จะทักเด็กชมเด็กเรื่องเก่งน่ะโอเค เด็กทำดีก็ต้องชม ชมก็ชมแค่พอดีไม่ต้องเวอร์ให้ทะนงตัว แต่เรื่องเกรดอย่าไปยึดติดมากจะได้มั้ยคะ…พ่ออิฉันคุณตาจิระ สอนไว้ว่า “เกรดไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต” แต่เท่าที่เห็นหลายๆ บ้านการที่ผู้ใหญ่ไม่ได้ระวังกับคำถามแบบนี้ มันทำให้เด็กก้าวไปสู่ยุคของความเห็นแก่ตัว ฉันต้องชนะ ฉันต้องเป็นที่ 1 ฉันจะแพ้ไม่ได้ และไม่รู้จักคำขอโทษ
  • การดูแลตัวเองและ EQ ยังค่อนข้างแย่ ยังไม่สามารถแยกเวลาจัดการหน้าที่ตัวเองได้เท่าที่ควร แต่ก็ไม่เป็นไร ค่อยๆ ฝึกกันไป
  • ภาวะการควบคุมอารมณ์ ก็ยังคอนข้างแย่ ยังงอแง และใช้การร้องไห้แทนเหตุผล ไม่ยืดหยุ่นในคำตอบที่คาดหวัง

หลักๆ ที่พอจะสรุปในช่วงป.1 ก็คงประมาณนี้ ความน่ารักแบบอินดี้ๆ ที่พบก็มีเยอะอยู่ ก็ยังรู้สึกโชคดีที่จิระไม่ออกแนวไฮเปอร์ทำร้ายร่างกายรุนแรงคุมอารมณ์ไม่อยู่ แบบนั้นอิฉันคงเหวอ….เอาไว้มาอ่านย้อนหลังปีหน้าเช็คดูว่าที่ลองผิดลองถูกกันมาจะเติบโตไปเป็นยังไง…ส่วนรายละเอียดจุกจิกๆ ยังคงอัพ memo ใน fb แทนนะจ๊ะ 🙂 

ปล. เอนทรี่นี้ไม่สามารถจะวินิจฉัยภาวะสมาธิสั้นของเด็กคนใดได้นะคะ กรุณาปรึกษาคุณหมอด้านจิตวิทยาเด็กจะถูกต้องที่สุด //เอนทรี่นี้แค่อธิบายและเป็นบันทึกคร่าวๆ ในภาษาแม่ที่ไม่ใช่หมอจะพอเข้าใจในภาพกว้างๆ ได้เท่านั้นค่ะ

Jira's world

Advertisement

Written by pikarin

March 4, 2014 at 16:28

Posted in my monkey

Tagged with ,